ในปัจจุบันสังคมเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น “คู่รัก” สามารถแต่งงานกันโดยจะจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสกันก็ได้ และคู่รักบางคู่อาจจะเคยเกิดข้อสงสัยว่าแล้ว “ถ้าอยากกู้ร่วมซื้อบ้านกับแฟนจำเป็นต้องจดทะเบียนสมรสกันไหม?” ซึ่งคำถามนี้ค่อนข้างมีรายละเอียดที่ยิบย่อยและซับซ้อนอยู่ประมาณหนึ่ง

เนื่องจากจะมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย วันนี้ ขอนแก่นน่าอยู่ จะพาไปดูกันว่าถ้าอยากกู้ร่วมซื้อบ้านจะสามารถกู้ร่วมกับใครได้บ้าง? กู้ร่วมกันแฟนจะทำได้ไหม? แล้วหากวันหนึ่งเลิกรากันไปควรจัดการทรัพย์สินร่วมอย่างไร?

เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้แก่คู่รักที่ต้องการยื่นสินเชื่อกู้ร่วมซื้อบ้าน จะมีรายละเอียดอะไรบ้างไปชมพร้อมกันกับ ขอนแก่นน่าอยู่ สาระน่ารู้เพื่อคนรักบ้าน ก่อนไปกู้ร่วมซื้อบ้านกันเลยครับ

กู้ร่วม คืออะไร?

“การกู้ร่วม” คือการทำสัญญายื่นกู้ทรัพย์สินโดยมีผู้กู้ร่วมด้วยอีกหนึ่งคนยกตัวอย่างเช่น การกู้ร่วมซื้อบ้านในกรณีคู่รักที่แต่งงานจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นการสร้างความมั่นใจกับธนาคารว่าผู้กู้จะสามารถชำระหนี้เมื่อครบกำหนดชำระได้และผู้ร่วมกู้เองจะมีส่วนช่วยรับผิดชอบในภาระหนี้สินนั้นๆ การกู้ร่วมจะช่วยเพิ่มเครดิตและความน่าเชื่อถือทำให้สินเชื่อมีโอกาสที่จะผ่านการอนุมัติได้ง่ายยิ่งขึ้น

กู้ร่วมซื้อบ้านกับใครได้บ้าง?

1.สามารถยื่นเรื่องกู้ร่วมได้กับบุคคลที่ใช้นามสกุลเดียวกันไม่ว่าจะเป็น พ่อ-แม่, พี่-น้อง, สามี-ภรรยา (ทั้งกรณีที่จดทะเบียนสมรสและไม่ได้จดทะเบียนสมรส)

2.สามารถยื่นเรื่องกู้ร่วมได้กับบุคคลที่เป็นพี่น้องกันถึงแม้ไม่ได้ใช้นามสกุลเดียวกันแต่จำเป็นจะต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่าเป็นพี่น้องกันจริง เช่น สูจิบัตร ที่มีชื่อบิดา-มารดาคนเดียวกันหรือเอกสารทะเบียนบ้าน เป็นต้น

3.สามี-ภรรยาที่มีการจัดงานแต่งงานเรียบร้อยแล้วแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน

เป็นแฟนกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสสามารถกู้ร่วมซื้อบ้านได้ไหม?

ไม่สามารถทำเรื่องกู้ร่วมซื้อบ้านได้ เนื่องจากยังอยู่ในสถานะที่เป็นแฟนกันแต่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการการแต่งงานอย่างถูกต้องตามประเพณีก็ยังไม่นับว่าเป็นสามี-ภรรยากัน แต่หากเป็นแฟนที่แต่งงานกันแล้วถึงแม้ว่าจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็สามารถยื่นกู้ร่วมได้แต่ต้องแสดงหลักฐานการแต่งงานเพื่อยืนยันสถานะ เช่น รูปถ่ายวันแต่งงาน รูปพรีเวดดิ้ง รูปถ่ายในงานหมั้น เป็นต้น

กู้ร่วมซื้อบ้านกับสามี-ภรรยา กรรมสิทธิ์จะเป็นของใคร?

การกู้ร่วมซื้อบ้านในกรณีเป็นสามี-ภรรยากันอยู่ที่การตกลงกันของผู้กู้ทั้งสองคนว่าจะให้กรรมสิทธิ์เป็นของผู้ใดโดยไม่เกี่ยวกับการเป็นผู้รับผิดชอบภาระหนี้เพราะต้องรับผิดชอบร่วมกันอยู่แล้ว แต่โดยทั่วไปมักจะเลือกให้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันซึ่งการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันนั้นจะมีข้อกำหนดว่าหากภายหลังเลิกรากันและต้องการขายทรัพย์สินนั้นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ถือกรรมสิทธิ์จากการกู้ร่วมซื้อบ้าน(เจ้าของบ้าน) ครบทุกคนก่อนจึงจะขายทรัพย์สินได้

จดทะเบียนสมรสและกู้ร่วมซื้อบ้านกันเรียบร้อยแล้ว แต่ภายหลังตกลงหย่าร้างกัน ควรทำอย่างไร?

1.ถอนชื่ออดีตสามี-ภรรยาที่กู้ร่วมออกจากสัญญากู้ร่วมซื้อบ้านได้ โดยทั้งคู่ตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้ได้ถือกรรมสิทธิ์ต่อและเมื่อจดทะเบียนหย่ากันเรียบร้อยแล้วให้นำเอกสารการหย่าไปยื่นเรื่องขอถอดชื่อผู้กู้ร่วมกับธนาคารซึ่งธนาคารจะทำการเปลี่ยนแปลงวงเงินกู้และรายละเอียดสัญญาใหม่ให้แก่ผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ต่อนั่นเอง

2.รีไฟแนนซ์สินเชื่อจากผู้กู้ร่วมซื้อบ้านให้เป็นผู้กู้เดี่ยว

วิธีนี้เป็นทางออกในกรณีที่ทางธนาคารไม่อนุมัติให้เปลี่ยนสัญญาจากกู้ร่วมเป็นกู้เดี่ยวเนื่องจากประเมินแล้วว่าผู้กู้เดี่ยวไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ตามกำหนดโดยทางธนาคารจะประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น เงินเดือนของผู้กู้เดี่ยว, ภาระหนี้สินอื่นๆ, เช็กเครดิตบูโรหรือการติดแบล็คลิสต์ของผู้กู้เดี่ยวร่วมด้วย

3.ขายทรัพย์สินและแบ่งเงินกันคนละครึ่งจากการกู้ร่วมซื้อบ้าน

วิธีนี้ทั้งสองฝ่ายหลังการกู้ร่วมซื้อบ้านแล้วทำการตกลงแล้วว่าไม่มีใครอยากถือกรรมสิทธิ์บ้านต่อ จึงทำการขายทิ้งเพื่อตัดปัญหาได้โดยในการขายบ้านนั้นก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย ฯลฯ ด้วย

ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและกู้ร่วมซื้อบ้านกันแต่ภายหลังตกลงเลิกรากัน ควรทำอย่างไร?

ในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่เลิกรากันนั้นการแบ่งทรัพย์สินจะไม่ยุ่งยากเท่ากรณีที่จดทะเบียนสมรสกันโดยทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงร่วมกันว่าต้องการให้ผู้ใดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อจากการกู้ร่วมซื้อบ้าน หลังจากนั้นสามารถไปที่ธนาคารแจ้งความประสงค์ต้องการถอนรายชื่อผู้กู้ร่วมอีกฝ่ายจากการกู้ร่วมซื้อบ้าน โดยแจ้งเป็นกรณีเกิดการหย่าร้างกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันธนาคารจะทำการประเมินศักยภาพทางการเงินของผู้ยื่นเรื่องกู้เดี่ยวว่าสามารถชำระได้ตรงตามกำหนดนัดชำระหรือไม่ต่อไป

ความสัมพันธ์ของคู่รักมักเกิดจากความรู้สึกดีและความหวังดีที่มีให้แก่กันแม้ว่าวันหนึ่งเป้าหมายในชีวิตของทั้งสองอาจไม่เหมือนกันก็ตามแต่เรื่องของกรรมสิทธิ์ถือครองทรัพย์สินนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมายด้วย ดังนั้นหากต้องการยื่นเรื่องกู้ร่วมไม่ว่าจะกับผู้ใดควรจะศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจเพื่อไม้ให้เกิดปัญหาหรือกรณีทะเลาะเบาะแว้งกันในภายหลังเมื่อเลิกรากันนะครับ และสำหรับครั้งหน้า #ขอนแก่นน่าอยู่ จะพาผู้อ่านไปพบกับ #สาระน่ารู้เพื่อคนรักบ้าน ในหัวข้ออะไรต่อไปอย่าลืมติดตามกันนะครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก sansiri.com

กดติดตาม "ขอนแก่นน่าอยู่" หา บ้าน ที่ดิน คอนโด หอพัก ทั่วเมืองขอนแก่น‌‌🏡🏡ทั้ง บ้านมือ1 , มือ2 เพิ่มเติมได้ที่‌‌

⭕️Website : www.nayoo.co (ไม่มี m)

‌‌⭕️ Facebook : ขอนแก่นน่าอยู่

⭕️YouTube : https://www.youtube.com/c/khonkaennayoo

อย่าพลาด โปรโมชั่นพิเศษฉลอง "ขอนแก่นน่าอยู่" ครบ 1 ปี

หาที่อยู่ คิดถึง "ขอนแก่นน่าอยู่"

ใช้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย