ในการซื้อขายที่ดิน เอกสารสิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องตรวจสอบให้ดี เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นได้อย่างถูกต้อง สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก ส.ป.ก. 4-01 หรือใครที่กำลังครอบครองที่ดินนี้อยู่แล้วอยากทำความรู้จัก ส.ป.ก. 4-01 ให้มากขึ้น ตามไปอ่านบทความนี้กันได้เลยครับ
ส.ป.ก. 4-01 คืออะไร
ในการทำความรู้จักที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้มากขึ้น ก่อนอื่นเรามาดูกันเลยครับว่า ส.ป.ก. 4-01 คืออะไร
ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 คือ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ออกตาม พ.ร.บ. ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกิน โดยมีหลักว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น จะใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้
ย้อนกลับไปในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชาวไร่ชาวนา นักศึกษา นักการเมือง ได้มีการเดินขบวนเรียกร้องหลายครั้ง สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาไม่มีที่ดินทำกินและการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน
รัฐบาลในสมัยนั้นซึ่งมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้แก้ปัญหาโดยจัดตั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ขึ้น มีการปฏิรูปที่ดินและประกาศใช้พระราชบัญญัติการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม เพื่อช่วยแก้ไขให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน
ภายใต้กฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส.ป.ก. ได้สนับสนุนเกษตรกรโดยมีเขตปฏิรูปที่ดินแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- ที่ดินของรัฐ เขตปฏิรูปที่ดินได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพ ที่สาธารณประโยชน์ที่ราษฎรเลิกใช้ร่วมกัน ที่สาธารณสมบัติแผ่นดิน และที่รกร้างว่างเปล่าที่อยู่นอกเขตป่าไม้ถาวร โดย ส.ป.ก. จะทำการสำรวจที่ดิน เพื่อนำมาจัดให้เกษตรกรเช่าหรือเช่าซื้อ หรือเข้าทำประโยชน์
- ที่ดินของเอกชน ส.ป.ก.จะนำที่ดินที่จัดซื้อหรือเวนคืนในเขตปฏิรูปที่ดินมาจัดสรรกับเกษตรกร หรือผู้ไม่มีที่ทำกิน หรือผู้มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพที่ได้ยื่นคำร้องไว้ ซึ่งเกษตรกรจะต้องเช่า หรือเช่าซื้อจาก ส.ป.ก.
เกษตรกรที่ยื่นคำร้องไว้และมีสิทธิได้รับ ส.ป.ก. 4-01 จะได้รับหนังสือรับมอบที่ดิน (ส.ป.ก.4-28) และหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) จากส.ป.ก.ไว้เป็นหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.
ซึ่งจำนวนที่ดิน ส.ป.ก.ที่จะได้รับจะแบ่งออกเป็นที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ สำหรับเกษตรกรที่ใช้เพื่อประกอบเกษตรกรรมและที่ดินไม่เกิน 100 ไร่ สำหรับเกษตรกรที่ใช้เพื่อประกอบเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ
สำหรับใครที่สนใจอยากอ่านความรู้เกี่ยวกับการขายฝากที่ดิน สามารถตามไปอ่านได้ที่ มาทำความรู้จักการขายฝากที่ดินกันดีกว่า กันได้เลยครับ
ส.ป.ก. 4-01 ซื้อขายได้มั้ย
ส.ป.ก. 4-01 สามารถซื้อขายได้มั้ย? เป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ ส.ป.ก. 4-01 ที่หลายคนสงสัย น่าอยู่จึงขอตอบทุกคนเลยว่า ส.ป.ก. 4-01 ไม่สามารถซื้อขายได้นะครับ ยกเว้นแต่เป็นการโอนมรดกตกทอด โอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก.
ตามที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 ระบุไว้ว่า “ ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการ แบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
ดังนั้นถ้ามีใครมาเสนอขายที่ดินให้กับเรา เราควรตรวจสอบให้ดีว่าที่ดินนั้นมีเอกสารสิทธิ์ประเภทใด สามารถซื้อขายได้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อไม่ให้เราถูกโกงหรือถูกเอาเปรียบนั่นเอง
สำหรับใครที่อยากศึกษาเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ที่ดิน สามารถตามไปอ่านได้ที่ เรื่องน่ารู้ชวนคิด เอกสารสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดิน
ผู้มีสิทธิได้รับ ส.ป.ก. 4-01
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า ใครบ้างที่จะมีสิทธิได้รับ ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งตามกฎหมายได้ระบุ ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 โดยมีด้วยกัน 3 ประเภท คือ
- เกษตรกร
- ผู้ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และต้องไม่มีที่ดินทำมาหากินเป็นของตนเอง หรือมีเล็กน้อยไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ
- ผู้ที่จะประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ ผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี หรือจบการศึกษาทางเกษตรกรรม ไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า หรือเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และต้องไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเอง และไม่มีอาชีพอื่นที่มีรายได้ประจำเพียงพอแก่การยังชีพอยู่แล้ว
2. สถาบันเกษตรกร
- กลุ่มเกษตรกร
- สหกรณ์การเกษตร
- ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
3. ผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
- กิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ เช่น ฝาย คลอง สระน้ำ ประปา ไฟฟ้า
- กิจการอื่นๆที่เป็นการสนับสนุนและเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน เช่น ไซโล ยุ้งฉาง
- กิจการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ๆ เช่น การทำเหมืองแร่ ขุดดินลูกรัง ระเบิดย่อยหิน
นอกจากนี้ผู้มีสิทธิได้รับ ส.ป.ก. 4-01 ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- มีสัญชาติไทย
- บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว
- มีความประพฤติดี ซื่อสัตย์สุจริต
- มีร่างกายสมบูรณ์ ขยันขันแข็ง และสามารถประกอบอาชีพเกษตรได้
- ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองหรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงพอ
- ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- เป็นผู้ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและเงื่อนไขของ ส.ป.ก.
สิทธิ ส.ป.ก. 4-01จะหมดไปเมื่อไหร่
ถึงแม้เกษตรกรจะได้มีสิทธิได้รับ ส.ป.ก. 4-01 มา แต่สิทธินั้นก็สามารถหมดไปได้เช่นกัน ตามเงื่อนไขต่อไปนี้
- เกษตรกรที่มีสิทธิได้รับ ส.ป.ก. 4-01 ตายหรือสละสิทธิ์
- เกษตรกรที่มีสิทธิได้รับ ส.ป.ก. 4-01 โอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ การเช่าให้ผู้อื่น
- เกษตรกรที่มีสิทธิได้รับ ส.ป.ก. 4-01 ขาดคุณสมบัติที่กำหนดไว้
- เกษตรกรจะได้มีสิทธิได้รับ ส.ป.ก. 4-01 ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์
ขั้นตอนการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. 4-01
ถ้ามีคุณสมบัติตามที่กล่าวไปข้างต้น สามารถยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.ได้ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัด พร้อมเตรียมเอกสารได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน และหลักฐานการมีที่ดิน (ถ้ามี) ซึ่งขั้นตอนการจัดที่ดินของ ส.ป.ก. มีดังนี้
- (ส.ป.ก.) จังหวัด ออกประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้อง
- เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าประโยชน์
- (ส.ป.ก.) จังหวัด จัดทำบัญชีคัดเลือกเกษตรกร
- (ส.ป.ก.) จังหวัด นำเสนอปฏิรูปที่ดินจังหวัด
- (ส.ป.ก.) จังหวัด ประกาศผลการคัดเลือก และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.แก่ผู้ได้รับสิทธิ ส.ป.ก. 4-01
เงื่อนไขที่ต้องทำเมื่อได้รับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01
เมื่อเกษตรกรได้รับสิทธิอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 แล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและเงื่อนไขของ ส.ป.ก. ซึ่งเงื่อนไขที่ต้องทำเมื่อที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 มีดังนี้
- ต้องใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อการเกษตรเท่านั้น ห้ามขาย ห้ามให้เช่า
- ขุดบ่อได้ไม่เกิน 5% ของที่ดิน และไม่นำดินที่ขุดออกจากแปลง
- ดูแลรักษาหมุดหลักเขตที่ดินไม่ให้ชำรุดเสียหาย
- ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน จนทำให้ไม่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม
- สร้างบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างได้ตามสมควร
- ไม่สร้างความเสียหายต่อการทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรอื่น
- ยินยอมทำสัญญาและปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ทำกับส.ป.ก.
บทสรุป
จบกันไปแล้วกับการทำความรู้จักที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 หวังว่าทุกคนจะได้รับความรู้และมีความเข้าใจใน ส.ป.ก. 4-01 มากขึ้นนะครับ อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ทุกคนอย่าลืมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมหรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ก่อนทำธุรกรรมใด ๆ ด้วยนะครับ
สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อที่ดินขอนแก่นอยู่ สามารถเข้ามาเลือกชมประกาศซื้อขายที่ดินขอนแก่นได้ที่เว็บไซต์ขอนแก่นน่าอยู่ แหล่งรวมประกาศขายที่ดินสวย ๆ ทำเลฮิตในขอนแก่นกว่า 400 แห่ง และยังมีสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกด้วย
หรือใครที่กำลังอยากขายที่ดินแต่ยังขายไม่ได้ซักที ก็สามารถเข้ามาลงประกาศขายในเว็บไซต์น่าอยู่ได้เช่นกัน ประกาศฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่จำกัด โดยสามารถเข้าดูวิธีลงประกาศขายที่ดินได้ที่นี่เลยครับ
อ้างอิง
- พระราชบัญญัติ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘
- บทความภารกิจและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
- บทความที่ดิน ส.ป.ก.4-01 คืออะไรทำไมอนาคตอาจกลายเป็นที่ดินทองคำ
- บทความที่ดิน ส.ป.ก. คืออะไร ซื้อขายได้ไหม ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 โอนได้หรือไม่
- บทความการจัดที่ดิน ตาม พ.ร.บ. ของ ส.ป.ก. มีอะไรบ้าง มาดูกัน
กดติดตาม "ขอนแก่นน่าอยู่" เพื่อ หาบ้านมือ 1, หาคอนโด, บ้านมือ 2, ที่ดิน รวมถึงหาเช่า/หอพักทั่วเมืองขอนแก่นเพิ่มเติมได้ที่บนเว็บไซต์
- Website : www.NaYoo.co (ไม่มี m)
- Facebook : ขอนแก่นน่าอยู่
- YouTube : https://www.youtube.com/c/khonkaennayoo