เราจะเห็นได้ว่าในการก่อสร้างบ้านหรืออาคารต่าง ๆ นั้น เหล็ก ถือว่าเป็นวัสดุองค์ประกอบสำคัญในการก่อสร้างเลยทีเดียว โดยเหล็ก คือ โลหะผสมของธาตุเหล็ก ธาตุคาร์บอน ธาตุแมงกานีส และสารอื่น ๆ ในปริมาณที่น้อยลดหลั่นลงไป ซึ่งเหล็กก็มีด้วยกันหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติต่างกัน ลักษณะการใช้งานของเหล็กจึงแตกต่างกันไปตามประเภทนั้น ๆ วันนี้น่าอยู่จะพาไปทำความรู้จักกับเหล็กที่นิยมใช้ในงานก่อสร้างกันค่ะ

เหล็กแบ่งได้เป็นกี่ประเภท

เหล็ก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามปริมาณคาร์บอนภายในเหล็ก ได้แก่

  1. เหล็กหล่อ ( Cast Iron ) เป็นเหล็กที่ผสมระหว่างเหล็กและคาร์บอน โดยมีปริมาณคาร์บอนมากกว่า 2% แข็งแรงไม่เท่าเหล็กกล้า เปราะได้ง่ายกว่า นิยมใช้ในอุตสาหกรรมสายผลิต เพราะราคาที่ต่ำกว่า จุดหลอมเหลวต่ำทำให้ขึ้นรูปได้ง่าย
  2. เหล็กกล้า ( Steel ) เป็นเหล็กบริสุทธิ์ที่ไม่มีสารผสม มีความยืดหยุ่นและค่อนข้างเหนียว ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

ประเภทของเหล็กหล่อ

เหล็กหล่อจำแนกได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่ เหล็กหล่อขาว เหล็กหล่อเทา เหล็กหล่ออบเหนียว เหล็กหล่อแกรไฟต์กลม เหล็กหล่อแกรไฟต์ตัวหนอน และเหล็กหล่อผสม โดยคุณสมบัติการใช้งานของเหล็กหล่อแต่ละประเภทนั้นมีข้อดี คือ นำไปตีและหล่อขึ้นรูปใหม่ง่าย แข็งแรง รับแรงกดทับได้ดี ทนต่อความร้อนและการสึกหรอ แต่ก็มีข้อเสีย คือ รับแรงกระแทกได้น้อย ความยืดหยุ่นต่ำ ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมา เหล็กหล่อจึงถูกนิยมใช้ในงานอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ อาทิเช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร เฟืองส่งกำลัง รวมไปถึงเครื่องมืออุตสาหกรรมอื่นอีกมากมาย

ประเภทของเหล็กกล้า

เหล็กกล้าได้ถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ งาน เนื่องจากเหล็กกล้ามีคุณสมบัติที่รับแรงต่าง ๆ ได้ดี ทั้งแรงกระแทก แรงดึง แรงอัด ไปจนถึงแรงเฉือน โดยเหล็กกล้าสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. เหล็กกล้าคาร์บอน เป็นเหล็กกล้าที่มีธาตุคาร์บอนเป็นส่วนผสมหลัก และมีธาตุอื่นผสมอยู่ด้วย เราสามารถแบ่งเหล็กกล้าคาร์บอนออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • เหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ เป็นเหล็กที่มีปริมาณคาร์บอนไม่เกิน 0.25% นอกจากนั้นยังมีธาตุอื่นผสมอยู่ด้วย โดยเหล็กประเภทนี้ขึ้นรูปง่าย เชื่อมง่าย แถมยังราคาถูก จึงนิยมใช้ในวงการอุตสาหกรรม เช่น กระป๋องบรรจุอาหาร สังกะสี ชิ้นส่วนยานยนต์ต่าง ๆ เป็นต้น
  • เหล็กกล้าคาร์บอนปานกลาง เป็นเหล็กที่มีปริมาณคาร์บอน 0.2 - 0.5% แข็งแรง มีความเค้นแรงดึงมากกว่าเหล็กคาร์บอนต่ำ แต่จะเหนียวน้อยกว่า นำไปชุบแข็งได้ เหมาะกับงานทำชิ้นส่วนเครื่องจักรกล รางรถไฟ เฟือง ท่อเหล็ก เป็นต้น
  • เหล็กกล้าคาร์บอนสูง มีปริมาณคาร์บอนอยู่ที่ 0.5 - 1.5% มีความแข็งแรง ความเค้นแรงดึงสูง ชุบแข็งแล้วจะเปราะ เหมาะกับงานที่ทนต่อการสึกหรอ เช่น สปริง แหนบ ลูกปืน เป็นต้น

2. เหล็กกล้าประสม หมายถึง เหล็กที่มีธาตุอื่นนอกจากธาตุคาร์บอนผสมอยู่ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของเหล็กให้แข็งแรงขึ้น เหล็กกล้าผสมแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • เหล็กกล้าประสมต่ำ เป็นเหล็กกล้าที่มีธาตุประสมรวมกันอยู่น้อยกว่า 8% ผลจากการที่มีธาตุอื่นผสมอยู่ ทำให้เหล็กประเภทนี้มีความแข็งแรงสูง เหมาะใช้ทำเครื่องจักรกล
  • เหล็กกล้าประสมสูง เหล็กกล้าประเภทนี้ถูกปรับปรุบคุณสมบัติให้เหมาะกับการใช้งานเฉพาะอย่าง เช่น เหล็กกล้าทนต่อการกัดกร่อน เหล็กกล้าทนต่อการเสียดสี เหล็กกล้าทนความร้อน เป็นต้น

เหล็กชนิดใดที่นิยมใช้ในงานก่อสร้าง

เหล็กแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน วันนี้น่าอยู่จะมาบอกว่าเหล็กชนิดใดที่พี่ ๆ ช่างก่อสร้างชอบใช้กันบ้าง ตามไปอ่านกันเลย

  • เหล็กข้ออ้อย มีลักษณะที่พื้นผิวมีครีบหรือบั้ง เพื่อช่วยในเรื่องความแข็งแรงทนทาน และการยึดเหนี่ยว เหมาะกับงานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ เช่น อาคารสูง คอนโดมิเนียม สะพาน คอนกรีต เป็นต้น
  • เหล็กเส้นกลม เรียกได้อีกชื่อว่า เหล็กRB  มีพื้นที่ภาคตัดขวางเป็นวงกลม มีผิวเรียบเกลี้ยง ทำให้ยึดกับคอนกรีตได้ไม่ดีนัก ส่วนมากถูกใช้เป็นเหล็กเสริมในงานโครงสร้าง เช่น ปลอกคาน ปลอกเสา เหล็กสำหรับงานพื้น หรืองานก่อสร้างขนาดเล็ก เป็นต้น
  • เหล็กรูปตัวซี เป็นเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่มีลักษณะหน้าตัดเป็นรูปตัวซี เหมาะกับงานโครงสร้างทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น งานเสาค้ำยัน โครงหลังคา  เป็นต้น
  • เหล็กกล่องสี่เหลี่ยม เรียกได้อีกอย่างว่า เหล็กแป๊บเหลี่ยม มีลักษณะโปร่ง กลวง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผิวเรียบไม่หยาบ เหมาะกับงานโครงสร้างที่ไม่ได้รับน้ำหนักมาก อย่างเช่น เสา นั่งร้าน รวมถึงสามารถใช้แทนไม้คอนกรีตได้ด้วย
  • เหล็กกล่องสี่เหลี่ยมแบน หรือเรียกได้อีกอย่างว่า เหล็กแป๊บแบน เหล็กกล่องไม้ขีด ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านในกลวง เหมาะกับงานขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง เช่น นั่งร้าน เสา ประตู เป็นต้น และเหล็กชนิดนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้แทนเหล็กชนิดอื่นได้อีกด้วย เพราะน้ำหนักเบา และแข็งแรงทนทาน

เหล็กแต่ละประเภทมีคุณสมบัติ ข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้งาน และงานก่อสร้างนั้นมีความปลอดภัย เราจึงควรเลือกใช้เหล็กให้ถูกกับลักษณะการใช้งาน เช่น งานที่เป็นโครงสร้างใหญ่ ก็ควรใช้เหล็กชนิดที่มีความแข็งแรง ทนทานมาก ส่วนงานก่อสร้างที่เป็นขนาดเล็กหรือขนาดกลางก็อาจใช้เป็นเหล็กที่มีคุณสมบัติรองลงมา เป็นต้น

หากสนใจสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง ให้รักเหมาช่วยคุณ "รักเหมา" แพลตฟอร์มจัดซื้อวัสดุก่อสร้างออนไลน์ เชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายในวงการวัสดุก่อสร้าง คลิกลิ้งค์เพื่อสั่งซื้อได้เลย https://bit.ly/3ZvEvK4

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ