เจาะลึกที่มาที่ไป คาเฟ่เปิดใหม่ ในอุบลราชธานี Ai Garden Café & Studio ของ "คุณหมอเค้ก-มาศสิริ แสนรักษ์" และ "คุณน้ำมนต์-ฐิติภัทรวรดา มีคุณ"
กับความตั้งใจจากผู้ออกแบบ The Prime Real Estate ภายใต้ Concept สุดท้าทาย ในการยกเอาความเป็นญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในสวนขนาดกว่า 1 ไร่ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม วัสดุ ผิวสัมผัส สวน และสเปซ
ปฏิเสธไม่ได้ ที่หลายคนจะหลงใหลความเป็น "ญี่ปุ่น" แอดเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน เชื่อว่าใครหลายคนที่โตมาก่อนที่จะถึงยุคของเกาหลี หรือเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2535-2520 หลายคนจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัฒธรรมแบบญี่ปุ่นกันไม่มากก็น้อย เพราะเป็นช่วงการเข้ามาของธุรกิจการลงทุน และความบันเทิง ที่ขยายตัวมาจากเป็นประเทศเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยพลังอย่าง “ญี่ปุ่น”
เราเชื่อว่าหากเพื่อนๆ คนไหนได้เคยไปเยือนประเทศนี้แล้ว ก็น่าจะชื่นชอบกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอากาศเย็นๆ กำลังดี ของกินที่ถูกปากคนไทย ความปลอดภัย ความสะอาดของบ้านเมือง รวมถึงการออกแบบสิ่งของตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ ตลอดจนอาคารหลังใหญ่ ญี่ปุ่นถือว่าให้ความสำคัญมากกว่าที่หลายคนคิด
และนี่คือเหตุผลและแรงบันดาลใจของ "คุณหมอเค้ก และคุณน้ำมนต์" นักธุรกิจชาวอุบลฯ ที่มีความหลงใหลในวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น จนอดไม่ได้ที่จะเรียกร้องให้หานักออกแบบที่มีฝีมือมาช่วยรังสรรค์ความตั้งใจที่จะมีสวนแบบญี่ปุ่น เป็นสวนส่วนตัวในบ้านของตัวเอง
ใช่แล้วครับ หลายคนคง งงๆ ตั้งแต่หัวเรื่องของเรา "สวนส่วนตัว สู่สวนของทุกคน" เดิมที่นี่ถูกออกแบบให้เป็นสวนส่วนตัวแต่ยิ่งทำ ยิ่งออกแบบ ทั้งตัวเจ้าของโครงการและทีมออกแบบ ก็รู้สึกอยากมีโอกาสนำเสนอความตั้งใจนี้ให้คนภายนอกมีโอกาสได้สัมผัส แต่ด้วยขนาดสวนในบ้านเดิม และการเข้าออกที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งคู่จึงตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงใหม่เพื่อสานฝันของตัวเองให้เป็นภาพที่ชัดกว่าที่เคย เกิดเป็น Ai Garden Café & Studio คาเฟ่ในสวน สไตล์ญี่ปุ่นขนานแท้
อย่างที่ได้บอกไว้ Ai Garden Café & Studio เดิมถูกออกแบบให้เป็นเพียงสวน แต่พอถูกย้ายมาที่ดินแปลงใหม่ โจทย์ใหม่จึงถูกเพิ่มเติม การเปิดรับคนภายนอก การหารายได้อย่างน้อยให้มากพอจะดูแลตัวเอง ตรงจุดนี้ ผู้ออกแบบจึงได้เข้ามามีส่วนเสริมอย่างมากที่จะทำให้สวนญี่ปุ่นแห่งนี้ กลายเป็นธุรกิจที่ไม่เป็นภาระต่อเจ้าของโครงการ และสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง
ด้วยความน่าสนใจต่างๆ จึงเป็นที่มาของบทความ ที่เรา "อุบลน่าอยู่" อยากนำเสนอ ผลงานการก่อสร้าง ออกแบบ และการจัดการของ ร้าน Ai Garden Café & Studio คาเฟ่ที่มีที่มาจากความตั้งใจ แรงบันดาลใจ และความหวนคิดถึง บรรยากาศแบบญี่ปุ่น ที่เพื่อนๆ ชาวอุบลฯ ควรได้มีโอกาสไปแวะเวียนด้วยตัวเอง
Ai Garden Café & Studio ตั้งอยู่ในซอย ที่ถือว่าต้องตั้งใจมานิดนึง แต่เมื่อมาถึงเชื่อว่าจะประทับใจ ด้วยพื้นที่สวนกว้างกว่า 1 ไร่ บนที่ดิน 2 ไร่เศษ เมื่อมาถึงผู้ออกแบบจะต้อนรับเราด้วย "Moon Gate" หรือประตูทรงกลม ที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของทั้งจีนและญี่ปุ่น ทางเข้าออกแบบให้จัดอยู่ทางด้านข้าง เพื่อนๆ สามารถเข้า-ออกได้ 2 จุด
จุดแรก บริเวณด้านในสุดที่เป็นส่วนของ Café ที่ออกแบบมาแบบผสมผสาน โทนสีในแบบ "มินิมอล" บวกกับรูปทรงคล้าย "นอร์ดิก" จับมาหันข้าง (ตรงนี้จะบอกว่าให้ความรู้สึกนึกถึงบ้านในชนบทของญี่ปุ่นเหมือนกันนะ) อาคารคาเฟ่ถูกออกแบบเป็น 2 ส่วนและแทรกกลางด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ ตรงนี้ผู้ออกแบบสามารถจัดวางสเตปของขั้น บันได สามารถนั่งเล่น ห้อยขา ในช่วงแดดร่มลมตก
ส่วนของอาคารที่ถูกแยกออกมา จัดเป็นอาคารโล่ง ตกแต่งด้วยองค์ประกอบเส้นสาย เหล็กฉลุสีดำ ลวดลายแบบเกลียวคลื่น คล้ายภาพวาดแบบญี่ปุ่น โดยรวมถือว่าทำได้น่าประทับใจและเกิดการใช้งานที่หลากหลายในอาคารที่ดูเผินๆ เหมือนไม่มีฟังก์ชั่นอะไรมากมาย
จุดทางเข้าที่ 2 คือทางเข้าใหญ่ ที่เป็น "Gate ทางเข้า" ออกแบบตกแต่งในเส้นสายแบบเอเชีย เข้ามาจะพบลานคอนกรีตแสตมป์สีดำ(พื้นคอนกรีตพิมพ์ลายหิน) รายล้อมด้วยต้นไม้สีเขียวสุดปลายตา มองเห็นเสา Torii สัญลักษณ์จากแดนอาทิตย์อุทัย จบด้วยด้านในกับป้ายชื่อ Ai Garden Café & Studio บนแผ่นไม้ธรรมชาติ
ผู้ออกแบบกล่าวว่า "ลานนี้เป็นพื้นที่ที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพิ่มเติมจากความเป็นสวน เพื่อสร้างพื้นที่ใช้งานที่สามารถจัดกิจกรรมได้หลากหลาย มากกว่าการเป็นแค่ร้านกาแฟ" ซึ่งทำออกมาได้เหมาะมากๆ เพราะทางคุณน้ำมนต์ก็เห็นด้วยและมองถึงการเปิดให้พื้นที่นี้สามารถรองรับการจัดงาน กิจกรรมรวมคน ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เช่นการจัดเป็น Studio ถ่าย Pre-Wedding หรือจัดงานเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถทำได้
ส่วนถัดเข้าด้านใน จะเป็นการเข้าสู่สวนตัวดั้งเดิม ที่ตั้งใจคือ "สวนแบบญี่ปุ่น" ซึ่งเราจะเห็นได้ถึงความตั้งใจในการคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่ให้ความรู้สึก เส้นสาย และรูปทรงที่คล้ายกับสวนญี่ปุ่นจริงๆ ทางเดินต่างๆ ออกแบบให้คดโค้ง เลี้ยวลดไปตามระยะ ซึ่งเห็นหัวใจของการออกแบบสวนแนวนี้ที่จะเน้นให้เกิดมุมมอง ที่เปลี่ยนไปตามระยะที่ก้าวเดิน เกิด Focus Point อันเป็นหัวใจของการออกแบบในความเป็น "สวนเซน (Zen)"
จุดในสุด หรือจุดไคลแม็กซ์ สุดท้ายที่รอเราอยู่คือ "สะพานโค้งสีแดง" ที่จำลองมาคู่กับน้ำตก และบ่อปลาคาร์ฟ ปลาที่ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของประเทศนี้ และเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่เป็นตัวตนของคุณหมอเค้ก ผู้เป็นเจ้าของ ก้นบ่อสีดำกริบ เสียงน้ำตก สีสันของปลาคาร์ฟ และเส้นสายของใบหลิว
ทั้งหมดเป็นความตั้งใจแบบสุดๆ ที่ผู้ออกแบบอยากให้สวนแห่งนี้มีความเป็นญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่อาคาร ไม่ใช่แค่ต้นไม้ ไม่ใช่แค่องค์ประกอบ แต่ "เสียง กลิ่น และสัมผัส" จะต้องครบในทุกมิติ หากใครได้มีโอกาสมา เราแนะนำว่า ให้ลองวางมือถือลง ค่อยๆ เดินก้าวไปตามแผ่นทางเดิน ค่อยๆ สัมผัสมุมมอง แสง สีสัน และเสียง ของที่นี่ ด้วยร่างกายของตัวเอง นี่คือหัวใจของการออกแบบสวนญี่ปุ่น ที่ผู้ออกแบบอยากนำเสนอ
และที่ขาดไม่ได้มาคาเฟ่ ก็ต้องมีเครื่องดื่ม ทางคุณหมอเค้ก และพวกเรา "อุบลน่าอยู่" ขอนำเสนอ ชาเขียวมัจฉะ ส่งตรงจากเมือง "อูจิ" แหล่งชาคุณภาพที่การันตีรสชาติและความหอม แต่ไม่การันตีว่ามีของ(จริงๆ นะ คือของหายาก สั่งแล้วก็ใช่ว่าจะได้ของตามสั่ง) ใครมาขอให้ลองถามก่อนว่ามีของไหม ถ้าโชคดีก็จะได้มีโอกาสลิ้มรสชาติ ชาเขียวที่เจ้าของที่คู่ตั้งใจสรรหามาพวกเราคนอุบล ได้สัมผัสกัน
สุดท้ายนี้ พวกเรา "อุบลน่าอยู่" ขอขอบคุณ คุณหมอเค้กและคุณน้ำมนต์ รวมถึง The Prime Real Estate ที่ช่วยการสร้างสรรค์งานดีๆ ให้กับเมืองอุบลของเรา อีกหนึ่งปลายทางที่หลายคนต้องมาให้ได้ ขอบคุณที่ให้โอกาสเรา "อุบลน่าอยู"่ ได้ถ่ายทอดความตั้งใจในทุกส่วนของงานสร้างและออกแบบ และหวังว่า เพื่อนๆ จะมีความสุขกับสถานที่แห่งนี้ Ai Garden Café & Studio
---------------------------------------------------------------------------------------------
เรา "อุบลน่าอยู่" ยังได้รวบรวมบทความการรีวิว หอพัก บ้านใหม่ ทรัพย์มือสอง ที่ดินเปล่า และเรื่องน่ารู้น่าสนใจในวงการอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดอุบลราชธานี อีกมากมาย
ใน 👉บทความและข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ ภายในเว๊บไซต์ของเรา
สามารถแวะเข้ามาชมข้อมูลโครงการบ้านอื่นๆ ในอุบลได้ที่
- 👉Website : www.nayoo.co/ubon
- 👉Facebook Fanpage : อุบลน่าอยู่
- 👉YouTube Channel : Ubon NaYoo (ติดตามคลิปรีวิว โครงการใหม่ที่น่าสนใจ)
- 👉LINE Official Account : @ubonnayoo
ติดต่อโฆษณากับเรา "อุบลน่าอยู่"
- 👉Tel. : 066 164 1649
- 👉Email : ubonnayoo@gmail.com